ความเป็นมาของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

1. บทนำ

การจัดสวัสดิการแก่พนักงานและลูกจ้าง เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามชราหรือเมื่อพ้นวัยทำงาน ถือเป็นสวัสดิการสำคัญ การจัดสวัสดิการ
ในเรื่องนี้ จึงไม่ควรที่นายจ้างหรือลูกจ้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง แต่ควรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล

2. วิวัฒนาการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

2.1 ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2527 : การจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานยังเป็นที่นิยมหรือได้รับความสนใจมากนัก ส่วนใหญ่จะกระทำกันในรูปของกองทุนบำเหน็จ คือ กองทุนที่นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีทั้งแบบที่นายจ้างกันเงินสำรองไว้ต่างหาก และแบบที่นายจ้างตั้งตัวเลขทางบัญชีไว้เฉย ๆ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จึงเป็นการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จของบริษัทใหญ่ ๆ โดยเฉพาะสาขาของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ด้านการบริหารเงินกองทุนก็มี ทั้งที่บริษัทนายจ้างบริหารเงินเองหรือให้บุคคลที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่ตั้งสำนักงานในประเทศไทยเป็นผู้จัดการให้
สำหรับข้อกำหนดทางภาษีอากรเกี่ยวกับ กองทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งประมวลรัษฎากรในขณะนั้นถือว่าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้ง 2 แบบ มีวิธีปฏิบัติที่สำคัญ คือ
(1) เงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเข้ากองทุนยังไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
(2) เงินที่ลูกจ้างได้รับครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน จะต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย
(3) เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุน ก็จะนำมาหักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีที่นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามที่จ่ายจริง เมื่อลูกจ้างออกจากงานเท่านั้น และต้องอยู่ในจำนวนที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนทั้งหมดของลูกจ้างที่นายจ้างใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินจ่ายสมทบด้วย
2.2 ช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2530 : เป็นช่วงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับดังกล่าวที่ต้องการส่งเสริมให้ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัดกันทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานเพื่อสร้างเงินออมในเชิงบังคับ และเป็นการสร้างสวัสดิการให้แก่พนักงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ เช่น ต้องมีการจ่ายเงินสะสมของพนักงานและเงินสมทบของนายจ้าง มีการกันเงินกองทุนนี้ ออกจากบัญชีการเงินของบริษัทนายจ้างอย่างถูกต้อง และมีผู้บริหารกองทุนเป็นเอกเทศเพื่อนำเงินในกองทุนไปหาผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งถ้าปฏิบัติได้ตามแนวนี้แล้วก็จะได้รับประโยชน์ในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กระทรวงการคลังจึงได้เตรียมยกร่างกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น โดยในระหว่างนั้นกระทรวงการคลังได้ออกกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น โดยในระหว่างนั้น กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2526 และให้มีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป เพื่อใช้กำกับควบคุมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปพลางก่อน กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ บริษัทนายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งกองทุนด้วยความสมัครใจ โดยมีบุคคลที่สามเป็นผู้จัดการกองทุน  ซึ่งต้องนำเงินในกองทุนไปลงทุน ตามหลักเกณฑ์ที่ทางการกำหนด แต่กองทุนนี้ยังถือเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัทนายจ้างที่จัดตั้งกองทุน (ยังไม่แยกเป็นนิติบุคคลต่างหาก) ในการนี้ทางการได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดย
(1) ให้เงินที่บริษัทนายจ้างสมทบเข้ากองทุน ถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเท่ากับเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้าง
(2) ให้เงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเข้ากองทุนนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินปีละ 7,000 บาท
(3) เนื่องจากยังมีนายจ้างอีกหลายรายที่ได้จัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างในรูปกองทุนบำเหน็จ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรมีผลใช้บังคับ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น ทางการจึงเปิดโอกาสให้บริษัทนายจ้างที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎกระทรวงฉบับนี้ และประสงค์จะโอนเงินที่ได้จัดสรรไว้เข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ให้นำเงินดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายได้ 10 รอบระยะเวลาบัญชี
ดังนั้น เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2530 มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 522 กองทุน คิดเป็นจำนวนเงิน 3,203 ล้านบาท ซึ่งกองทุนที่จัดตั้งขึ้นนี้ประกอบด้วย บริษัทนายจ้าง 514 ราย และลูกจ้างที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุน 83,254 คน
2.3 ช่วงปี พ.ศ. 2530 – ปัจจุบัน : พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2530 โดยกองทุนที่จัดตั้งตามกฎหมายนี้ นอกจากจะมีคุณสมบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรแล้ว กฎหมายยังยอมรับสภาพการเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกิจการของนายจ้าง และสิทธิในเงินกองทุนนี้ไม่อาจโอนกันได้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างอย่างแท้จริง ตลอดจนมีการกำหนดบทลงโทษ สำหรับนายจ้างและผู้จัดการกองทุนที่ทำให้ลูกจ้างหรือกองทุนต้องเสียสิทธิไป
สำหรับวิธีปฏิบัติทางภาษีอากร ในชั้นต้นเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ ได้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร และได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ตามความในประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับแทน ในกฎกระทรวงฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) นี้ ได้ยึดหลักการส่วนใหญ่ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร แต่มีส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป คือ
(1) เงินสมทบส่วนที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเกินกว่าร้อยละ 15 ของค่าจ้าง สามารถถือเป็นรายจ่ายได้การได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีฯ
(2) ผ่อนผันให้นายจ้างที่นำเงินกองทุนที่มีกองทุนอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรมาจดทะเบียนเป็นกองทุนที่ถูกต้อง ซึ่งได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเงินจำนวนดังกล่าวให้ถือเป็นรายจ่ายได้ 10 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่โอนเงินเข้ากองทุน แต่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียง 6 ปีเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นไปโดยต่อเนื่อง ในกฎกระทรวงฉบับนี้ จึงได้ให้นายจ้างของกองทุนดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายได้ต่อไปจนครบ 10 รอบระยะเวลาบัญชีตามเดิม
เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2537 มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้วจำนวน 768 กองทุน คิดเป็นจำนวนเงินกองทุน 31,770 ล้านบาท (รวมส่วนของเงินกองทุนที่มีอยู่ก่อนพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ และได้โอนเข้ามาจำนวน 6,901 ล้านบาท) ซึ่งกองทุนที่จัดตั้งขึ้นนี้เป็นการจัดตั้งโดยนายจ้าง 2,495 ราย และลูกจ้าง 526,817 คน

3. สาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ออกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2530 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 254 ฉบับพิเศษ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2530

3.1 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ออกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2530 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 254 ฉบับพิเศษ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2530
กฎหมายฉบับนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ และมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลทั่วไป ซึ่งการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้ง นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยในปัจจุบัน รัฐมนตรีฯ ได้แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นนายทะเบียน และข้าราชการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
โดยที่กฎหมายได้กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีฯ ที่จะออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และวิธีการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังกล่าวจนถึงปัจจุบันได้มีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายนี้ไปแล้ว 5 ฉบับ คือ
(1) กฎกระทรวง (พ.ศ. 2532)ฯ ว่าด้วยการยื่นคำขอจดทะเบียนกองทุน
(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2532)ฯ ว่าด้วยผู้จัดการกองทุน การจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์การลงทุน
(3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2532)ฯ ว่าด้วยบัตรประจำตัวนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่
(4) กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2534)ฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การลงทุน (เพิ่มเติม)
(5) กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2538)ฯ ว่าด้วยผู้จัดการกองทุน และหลักเกณฑ์การลงทุน (เพิ่มเติม)
(6) กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2538)ฯ ว่าด้วยผู้จัดการกองทุน
นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังได้วางเกณฑ์เพื่อการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีตามความในประมวลรัษฎากรไว้ 3 ลักษณะ ดังนี้
(1) มาตรา 47 (1) ช แห่งประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักลดหย่อนของเงินสะสม
(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
3.2 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มีทั้งหมด 5 หมวด 43 มาตรา ซึ่งส่วนแรกเป็นคำนิยาม ต่อมาเป็นหมวด 1 การจัดตั้ง
หมวด 2 การจัดการกองทุน หมวด 3 การจ่ายเงินจากกองทุนและการเลิกกองทุน หมวด 4 พนักงานเจ้าหน้าที่ และหมวด 5 บทกำหนดโทษ

4. คำนิยามศัพท์ที่สำคัญ

4.1 กำหนดลักษณะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ชัดเจน โดยให้หมายความว่า เป็นกองทุนซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ตายหรือออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน
4.2 เงินสะสม ให้หมายความว่า เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเองในอัตราร้อยละของค่าจ้าง
4.3 เงินสมทบ ให้หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อลูกจ้างในอัตราร้อยละของค่าจ้าง
4.4 ค่าจ้าง ให้หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนโดยวิธีใดและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด แต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่นายจ้างหักไว้ หรือจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างเพื่อประโยชน์ในการทำงาน
4.5 นายจ้าง ให้หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และไม่ว่าการตกลงนั้นจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่
4.6 ลูกจ้าง ให้หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะมีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่
4.7 นายทะเบียน ให้หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งได้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
4.8 พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้แก่ข้าราชการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

5. ขบวนการสำคัญในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

5.1 ก่อนจัดตั้งกองทุนต้องเน้นให้ลูกจ้างเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนว่า ต้องการให้เป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย หรือลาออกจากงาน ลาออกจากกองทุน ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1 กองทุน อาจประกอบด้วยนายจ้างมากกว่า 1 ราย ก็ได้
5.2 กองทุนจะต้องประกอบด้วย เงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมจากค่าจ้าง เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ รวมทั้งเงินหรือหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้และผลประโยชน์อันเกิดจากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว
5.3 กองทุนต้องมีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้บริหาร ซึ่งคณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วย ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้างและผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยนายจ้าง คณะกรรมการจะทำหน้าที่แทนสมาชิกและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน และเนื่องจากการจัดตั้งกองทุนเป็นเรื่องการจัดการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตพิเศษเป็นผู้จัดการกองทุน ดังนั้น ในการสรรหาและแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนด้วย โดยการคัดเลือกจากสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนั้น คณะกรรมการกองทุนยังทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกด้วย
5.4 กองทุนต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นประจำ ซึ่งจ่ายสะสมได้ตั้งแต่ร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 15 ของค่าจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้างแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ทั้งนี้ลูกจ้างและนายจ้างอาจตกลงกันจ่ายในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 15 ของค่าจ้างก็ได้ โดยต้องขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่านนายทะเบียน
ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในกรณีที่นายจ้างหยุดจ่ายค่าจ้าง
5.5 เพื่อให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายคณะกรรมการกองทุน จะต้องนำกองทุนไปยื่นขอจดทะเบียนต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นนายทะเบียน โดยต้องมีเอกสารประกอบการขอจดทะเบียน ได้แก่ ข้อบังคับของกองทุน สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน รายชื่อคณะกรรมการกองทุน และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม สำเนารายงานการประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุน สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาของนายจ้าง สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานกองทุน แผนที่แสดงที่ตั้งที่ทำการของนายจ้าง
5.6 ข้อบังคับของกองทุนที่จะนำไปจดทะเบียนอย่างน้อยจะต้องมีข้อความซึ่งประกอบด้วยชื่อกองทุน ซึ่งต้องมีคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า ที่ตั้งสำนักงาน วัตถุประสงค์ วิธีรับสมาชิกและการสิ้นสมาชิกภาพ ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ วิธีเลือกตั้งและแต่งตั้งวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมของคณะกรรมการกองทุน เงินสะสมและเงินสมทบที่ต้องจ่ายเข้ากองทุน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ หลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพหรือเมื่อเลิกกองทุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของกองทุน
5.7 กองทุนที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วจะต้องมีคำต่อท้าย “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” กองทุนที่จดทะเบียนแล้ว จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกิจการของนายจ้าง ทั้งนี้ สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
5.8 ให้นายจ้างแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของตนออกจากบัญชีของกองทุนโดยเด็ดขาด

6. เหตุการณ์ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องแจ้งนายทะเบียน

6.1 เมื่อมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีมติให้แก้ไข และยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนแล้ว
6.2 เมื่อมีการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน หรือการเปลี่ยนกรรมการให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือเปลี่ยนกรรมการ
6.3 ในกรณีที่กองทุนจัดตั้งขึ้นโดยมีนายจ้างมากกว่า 1 ราย หากนายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัวจากกองทุน ให้คณะกรรมการกองทุนแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่นายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัว และจัดให้มีการชำระบัญชีกองทุนเฉพาะส่วนทรัพย์สินของนายจ้างและลูกจ้างของนายจ้างนั้น ตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันเสร็จการชำระบัญชี

7. ผู้จัดการกองทุนและหน้าที่ของผู้จัดการ

7.1 ตามกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาตรา 13 กำหนดว่า “การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการ โดยบุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายจ้าง และต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี” ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเป็นบริษัทเงินทุน หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจัดการลงทุน โดยในขั้นแรกกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 9 บริษัท และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 1 บริษัท เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

7.2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเป็นนโยบายที่จะตอบแทนแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่เข้าฟื้นฟูบริษัทในโครงการ 4 เมษายน 2527 ให้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงได้เพิ่มจำนวนสผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 7 บริษัท เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 6 บริษัท และบริษัทเงินทุน 1 บริษัท รวมเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 17 บริษัท
7.3 แม้ว่าจะได้มีการออกกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อใช้บังคับมากประมาณ 10 ปีเศษ แต่การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายระดมเงินออมมากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังจึงได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2538) และฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2538) ตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 กำหนดให้ธนาคาร บริษัทประกันชีวิต และบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
7.4 ผู้จัดการกองทุนจะคิดค่าตอบแทนได้ปีละไม่เกินร้อยละ 10 ของผลประโยชน์ที่กองทุนได้รับจากการลงทุน แต่เท่าที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจนี้มีสูงมาก จึงทำให้ผู้จัดการกองทุนตัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงมามาก อาจเหลือเพียงร้อยละ 2 – 3 ของผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนก็มี ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการคัดเลือกผู้จัดการที่คิดค่าตอบแทนในอัตราต่ำนี้ด้วย
7.5 ผู้จัดการกองทุนต้องจัดทำรายงานแสดงยอดเงินสะสมของลูกจ้าง เงินสมทบของนายจ้าง พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับ และแจ้งให้ลูกจ้างทราบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
7.6 ผู้จัดการกองทุนต้องจัดทำบัญชีแสดงฐานะการเงินของกองทุนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และต้องเก็บรักษาเอกสารประกอบบัญชีแสดงให้เห็นความถูกต้องแห่งบัญชีนั้นไว้ด้วย นอกจากนั้นผู้จัดการกองทุนยังต้องแสดงฐานะทางการเงินต่อรัฐมนตรีฯ ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย
7.7 ผู้จัดการกองทุนต้องจัดให้มีการสอบบัญชีทุกปี และต้องเสนองบดุลพร้อมด้วยรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต่อที่ประชุมใหญ่ภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของกองทุน ซึ่งเมื่อที่ประชุมใหญ่รับรองงบดุลแล้ว ให้ส่งสำเนาให้แก่นายทะเบียนและต้องแสดงไว้ที่สำนักงานกองทุนเพื่อให้ลูกจ้างตรวจดูได้ด้วย
7.8 ตามกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีฯ มีอำนาจที่จะอนุญาตให้สถาบันการเงินใดเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และให้อำนาจที่จะถอดถอนสถาบันการเงินต่าง ๆ จากการที่เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ด้วย
กรณีสถาบันการเงินใดจะขออนุญาตเป็นผู้จัดการกองทุนจะต้อง ยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น ๆ เช่น บริษัทเงินทุน และธนาคารพาณิชย์ ต้องยื่นผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย
7.9 ขณะนี้ผู้จัดการกองทุนได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรมเพื่อประโยชน์ในการศึกษาพัฒนาธุรกิจ และติดต่อกับทางการ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะปรับบทบาทของชมรม เป็นสมาคมตามนโยบายการสนับสนุนให้ภาคเอกชนรวมกลุ่มกันบริหารและควบคุมกันเอง (SRO) และทางการก็ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

8. การจัดการกองทุนและค่าใช้จ่าย

8.1 กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2530) ตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญของการลงทุนไว้ให้ลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งมีความมั่นคงสูงมากกว่าสินทรัพย์ซึ่งมีความมั่นคงด้อยลงมา โดยแบ่งอัตราส่วนเป็นอัตราร้อยละ 60 และ 40 และห้ามผู้จัดการกองทุนนำเงินของกองทุนไปซื้อหุ้น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ซึ่งผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ออก
(1) สินทรัพย์ซึ่งมีความมั่นคงสูงที่บังคับให้ลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเงินกองทุน ประกอบด้วย
(ก) เงินสด เงินฝากธนาคาร หรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารเป็นผู้ออก
(ข) พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(ค) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ออก
(ง) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
(จ) ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้รับรอง อาวัล หรือสลักหลังโดยไม่มีกองทุนนั้นเองเป็นผู้สลักหลังในลำดับก่อนมาแล้ว
(ฉ) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้ออก
(ช) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับโดย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินของกองทุน
(2) สินทรัพย์ซึ่งมีความมั่นคงด้อยกว่าสินทรัพย์ตาม (1) ให้ลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของเงินของกองทุน ประกอบด้วย
(ก) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่รัฐวิสาหกิจ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นผู้ออก
(ข) ตราสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน
(ค) บัตรเงินฝากที่บริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก
(ง) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้รับรอง รับอาวัล หรือสลักหลัง โดยไม่มีกองทุนนั้นเองเป็นผู้สลักหลังในลำดับก่อนมาแล้ว
(จ) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้ออก
(ฉ) หุ้น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ให้ลงทุนรวมกันทุกบริษัทได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุน และในแต่ละบริษัทไม่เกินร้อยละ 5

9. ค่าใช้จ่ายอื่นในการจัดการกองทุน

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายกำหนดเพียงเรื่องค่าจัดการกองทุนที่จ่ายให้ผู้จัดการกองทุนเท่านั้นว่า
ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด (ตามข้อ 7.4) สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สิน หรือ
ค่าสอบบัญชี เป็นต้น จะจ่ายออกจากเงินกองทุนตามที่จ่ายจริง หรือนายจ้างจะรับภาระในค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ได้

10. การให้สิทธิกู้ยืมเงินจากกองทุน

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คือ การออมเงินในขณะทำงาน เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามชรา หรือเมื่อออกจากงาน แต่เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตขณะทำงานให้ดีขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินจากกองทุนได้เพียงเฉพาะส่วนของลูกจ้าง คือ เงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสะสม ไปใช้ได้เฉพาะในเรื่องจำเป็นเพียง 2 วัตถุประสงค์เท่านั้น คือ เพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือ เพื่อใช้ในด้านการศึกษาอบรมของตนเองและครอบครัว

11. การจ่ายเงินจากกองทุนและการเลิกกองทุน

11.1 ผู้จัดการกองทุนจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในจำนวนที่จะต้องได้รับตามบัญชีรายตัวสมาชิก โดยต้องจ่ายรวมทั้งหมดเพียงครั้งเดียว
ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ
ถ้าลูกจ้างสิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะเหตุถึงแก่ความตาย ผู้จัดการต้องจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ของสมาชิกที่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือที่ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการกองทุน
ถ้าลูกจ้างตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือทำหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการ ให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินแก่
(1) บุตรให้ได้รับ 2 ส่วน แต่ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ให้ได้รับ 3 ส่วน
(2) สามีหรือภริยาให้ได้รับ 1 ส่วน
(3) บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับ 1 ส่วน
ถ้าผู้ตายไม่มีบุคคลดังกล่าวตาม (1) (2) หรือ (3) หรือมีแต่ได้ตายไปก่อน ให้แบ่งเงินที่บุคคลนั้นมีสิทธิจะได้รับให้แก่บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
ถ้าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมหรือทำหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการกองทุน และไม่มีบุคคลดังกล่าวตาม (1) (2) หรือ (3) หรือ มีแต่ได้ตามไปก่อนแล้ว ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนเพื่อจัดการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุน
11.2 การเลิกกองทุนจะทำได้ก็ต่อเมื่อ นายจ้างเลิกกิจการ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก กรณีที่ข้อบังคับกองทุนกำหนดให้เลิก ซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ตามมาคือ ให้คณะกรรมการแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กองทุนเลิก และจัดให้มีการชำระบัญชีภายใน 30 วัน ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่กองทุนเลิก แต่รัฐมนตรีอาจจะขยายระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
นายทะเบียนจะประกาศการเลิกกองทุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป และในระหว่างการชำระบัญชีหากจะต้องมีการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกก็ให้กระทำได้ หรือมิฉะนั้นจะต้องจ่ายให้สมาชิกไม่เกิน 30 วัน นับแต่เสร็จการชำระบัญชี สำหรับค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีให้จ่ายจากกองทุนได้
11.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจจะสั่งให้เลิกกองทุนได้ ในกรณีที่เห็นว่ากองทุนมีพฤติการณ์ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน หรือขัดต่อกฎหมาย หรือเห็นว่ากิจการของกองทุนไม่อาจดำเนินต่อไปได้
เมื่อรัฐมนตรีฯ มีคำสั่งแล้วให้ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด และให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบภายใน 7 วัน ทั้งนี้ ให้มีการชำระบัญชี โดยบุคคลที่รัฐมนตรีฯ แต่งตั้ง

12. แนวปฏิบัติในการโอนกองทุน

เพื่อสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีทางการอนุญาตให้มีการโอนกองทุนเก่าหรือเงินกองทุนของสมาชิกจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนหนึ่งได้ดังนี้
12.1 หากนายจ้างรายใดประสงค์จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัตินี้ และมีความประสงค์โอนเงินกองทุนเก่าเข้ามาร่วมใน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สามารถทำได้ โดยจะขอโอนเข้าพร้อมการจัดตั้ง หรือหลังจากการจัดตั้งกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
12.2 หากสมาชิกกองทุนลาออกจากกองทุนไปทำงานกับนายจ้างอื่น ซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเช่นเดียวกัน โดยมีวันทำงานต่อเนื่องกัน
จะขอโอนเงินกองทุนในส่วนของสามาชิกนั้นไปยังกองทุนใหม่ก็ได้ สำหรับการนับเวลาในการปฏิบัติงานนั้น ให้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละกองทุน

13. สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

ทางการได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกจ้าง นายจ้าง และกองทุน ดังนี้
13.1 ลูกจ้าง
(1) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุน
เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนให้นำมาหักลดหย่อน ในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 15 แต่ไม่เกินปีละ 290,000 บาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี
(2) เงินก้อนที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุน ซึ่งประกอบด้วย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินทั้ง 2 ส่วน (ไม่รวมเงินสะสม เนื่องจากเงินสะสมนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนและเสียภาษีไปแล้ว
กรณีที่ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(ก) กรณีเกษียณอายุเมื่อลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
(ข) กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรอง ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ลูกจ้างผู้นั้นไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป ไม่ว่าเหตุทุพพลภาพนั้นจะเกิดเนื่องจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ก็ตาม
(ค) กรณีตาย ไม่ว่าการตายนั้นจะเกิดจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่
(3) เงินก้อนที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนในกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ลูกจ้างจะต้องเสียภาษีเหมือนกับกรณีลูกจ้างทั่ว ๆ ไป ที่ได้รับเงินครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานแต่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ลูกจ้างจะนำเงินดังกล่าวมาแยกหรือรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีก็ได้ ซึ่งกรณีทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้นำเงินดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายได้เท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง
13.2 นายจ้าง
เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างของลูกจ้าง หรือตามอัตราที่กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
13.3 กองทุน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร เงินกองทุนที่นำไปลงทุน เมื่อเกิดผลประโยชน์ขึ้นเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรส่วนเกินทุน เงินผลประโยชน์ดังกล่าวไม่ต้องคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี

14. วิธีปฏิบัติระหว่างนายทะเบียนกับอธิบดีกรมสรรพากร

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและลูกจ้างที่ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มตามสิทธิที่พึงได้ ดังนั้น ทุก ๆ ครั้งที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือแก้ไขข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับนายจ้าง ตลอดจนกรณีที่ตั้งกองทุนแล้ว ประสงค์จะโอนเงินกองทุนเก่าเข้ามาร่วมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายทะเบียนจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบด้วย

15. การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจ

ในอดีตรัฐวิสาหกิจได้ให้ผลตอบแทนการทำงาน สำหรับระยะเวลาที่ผ่านมาแก่พนักงานในรูปของเงินบำเหน็จ โดยจ่ายให้เป็นเงินก้อนครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน โดยจะได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงินเดือน และระยะเวลาที่ทำงานให้กับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ซึ่งเดิมไม่มีการกันเงินไว้ล่วงหน้า และถือเป็นรายจ่ายในปีที่จ่ายเงินออกไป ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารเงิน และเกิดผลกระทบต่อผลกำไรในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จของรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจัดตั้งกองทุนบำเหน็จ และแยกบัญชีมาตั้งไว้ต่างหากจากบัญชีของรัฐวิสาหกิจ และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจ่ายเงินเข้ากองทุน ให้พนักงานเป็นประจำทุกเดือนตามอัตราร้อยละของเงินเดือน โดยให้นำเงินกองทุนดังกล่าวไปลงทุนหาผลประโยชน์ด้วย
หลังจากกระทรวงการคลังได้ออกพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนั้น รัฐจึงมีนโยบายส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เนื่องจากเห็นว่ากองทุนบำเหน็จของพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ยังไม่มีความแน่นอนสำหรับพนักงาน เพราะเงินกองทุนบำเหน็จแม้จะแยกบัญชีออกจากบัญชีของรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่หากรัฐวิสาหกิจประสบปัญหาทางด้านการเงิน ก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อเงินบำเหน็จของพนักงานด้วย เนื่องจากเงินกองทุนบำเหน็จยังคงเป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ อีกทั้ง หากมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ทั้งรัฐวิสาหกิจและพนักงานต่างก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี แม้ว่าพนักงานเห็นข้อดีของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ปัญหาอุปสรรคในการจัดตั้งก็ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นการยินยอมพร้อมใจกัน ระหว่างรัฐวิสาหกิจและพนักงานที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจขึ้น และได้ชี้แจงให้รัฐวิสาหกิจที่ประสงค์จะจัดตั้งกองทุนปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้
15.1 ให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นด้วยความสมัครใจของรัฐวิสาหกิจและพนักงาน สำหรับพนักงานที่ทำงานอยู่ในขณะจัดตั้งกองทุน จะให้สิทธิในการเลือกว่าจะเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจะอยู่ในระบบบำเหน็จแบบเดิมก็ได้ หากเลือกเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ให้รัฐวิสาหกิจโอนเงินจากกองทุนบำเหน็จ หรือเงินอื่นที่จ่ายในลักษณะเดียวกันเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานแต่ละราย ณ วันที่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับพนักงานที่ไม่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ให้อยู่ในกองทุนบำเหน็จแบบเดิมต่อไป ส่วนพนักงานที่เข้าใหม่หลังจากที่รัฐวิสาหกิจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว จะต้องเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกคน
15.2 การจ่ายเงินสมทบของรัฐวิสาหกิจเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้จ่ายได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด คือ

 

อายุงาน

อัตราร้อยละของเงินเดือน

ไม่เกิน 20 ปี

ไม่เกิน 9

เกิน 20 ปีขึ้นไป

ไม่เกิน 10

 

          15.3 การจ่ายเงินสะสมของพนักงานเข้ากองทุนให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกำหนดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของเงินเดือนและไม่เกินอัตราที่รัฐวิสาหกิจจ่ายสมทบให้
ขณะนี้รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วจำนวน 13 ราย เช่น บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด บริษัททิพยประกันภัย จำกัด บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัทการบินไทย จำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นต้น

16. พนักงานเจ้าหน้าที่

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งให้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมี

ข้าราชการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของกองทุน สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนส่ง หรือแสดงบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นของกองทุน และเรียกบุคคลดังกล่าวมาสอบถามหรือแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุนได้
ในปัจจุบันนายทะเบียนได้มอบหมายให้ฝ่ายกองทุนสวัสดิการ กองนโยบายการออมและการลงทุน เป็นผู้พิจารณาการขอจดทะเบียน การแก้ไขข้อบังคับ และการดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เพื่อเสนอให้นายทะเบียนพิจารณาต่อไป และหากจะติดต่อนายทะเบียนให้ติดต่อโดยมีหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400

17. บทกำหนดโทษ

          การกำหนดโทษสามารถแยกตามประเภทของหน่วยงาน ได้ดังนี้
17.1 กองทุน
(1) กองทุนใดไม่ใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และ “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศ แต่ไม่ใช้คำซึ่งมีความหมายดังกล่าว ในดวงตาป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของกองทุนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
(2) ผู้ใดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นำหน้า และ “ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” ต่อท้าย หรือใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดังกล่าว ในดวงตราป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท จนกว่าเลิกใช้
17.2 คณะกรรมการกองทุน
คณะกรรมการกองทุนใดไม่นำกองทุนไปจดทะเบียนเมื่อมีการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน หรือเปลี่ยนกรรมการทุกครั้ง มิได้ให้มีการจัดการกองทุน โดยบุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายจ้าง ไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ ในกรณีที่มีนายจ้างบางรายเลิกกิจการหรือถอนตัวจากกองทุนหรือเมื่อกองทุนเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ถือว่ากรรมการทุกคนเป็นผู้กระทำความผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจกับกรรมการอื่น หรือได้จัดการตามสมควร เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว
17.3 ผู้จัดการ
(1) ผู้จัดการกองทุนใดที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีฯ ให้จัดการกองทุนได้ ให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
(2) ผู้จัดการกองทุนใดไม่ชี้แจงข้อเท็จจริง ทำรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนตามที่รัฐมนตรีฯ สั่ง หรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การจัดการ และค่าใช้จ่ายในการจัดการกองทุน หรือไม่สามารถจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการแล้ว ให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
(3) ผู้จัดการกองทุนใดไม่จัดทำรายงานแสดงยอดเงินสะสมของลูกจ้าง เงินสมทบของนายจ้าง พร้อมผลประโยชน์ที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับ และไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไม่ยื่นรายงานหรือแสดงเอกสารใด รวมถึงคำชี้แจงตามระยะเวลา หรือเป็นครั้งคราวตามที่กำหนดไว้ให้นายทะเบียนทราบ ไม่จัดทำบัญชีแสดงฐานะการเงินของกองทุนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดไว้ ไม่รายงานฐานะการเงินของกองทุนต่อรัฐมนตรีฯ ตามที่เกณฑ์กำหนด ไม่จัดให้มีการสอบบัญชีทุกปี และไม่ส่งสำเนางบดุลพร้อมรายงานการสอบบัญชี ซึ่งที่ประชุมใหญ่รับรองงบดุลแล้วต่อนายทะเบียนให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
(4) ผู้จัดการกองทุนใดไม่ส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนพร้อมทั้งบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการกองทุนภายใน 7 วัน ในกรณีที่ผู้จัดการกองทุนพ้นจากการเป็นผู้จัดการกองทุนแล้วให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง
17.4 นายจ้าง
นายจ้างใดไม่แยกบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน หรือทรัพย์สินอื่นของตนออกจากบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนโดยเด็ดขาด ให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
17.5 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่นายทะเบียน หรือพนักงาน
เจ้าหน้าทีซึ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการจัดการกองทุนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
17.6 ผู้ที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ
คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีฯ แต่งตั้งเป็นผู้ที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

0 Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Please enter comment.
Please enter your name.
Please enter a valid web Url.