ข้อบังคับ กสจ.

ประมวลข้อบังคับ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พ.ศ.๒๕๔๐
( แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๔๘ )

            โดยที่เหตุส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า    และลูกจ้างประจำของส่วนราชการได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ  ซึ่งจดทะเบียนแล้ว  ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้ว  เนื่องจากมีพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๔๒    พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  พ.ศ.๒๕๓๕  พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒  กฎกระทรวง  ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   ประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง   และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว   และเพื่อความ คล่องตัวของการบริหารให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน    อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๑ และข้อบังคับกองทุนข้อ ๑๘ (๗)  จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ   ซึ่งจดทะเบียนแล้ว  ทั้งนี้  บรรดาข้อบังคับ  ระเบียบ  คำสั่งอื่นใด  ซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน  ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ข้อบังคับนี้เรียกว่า    “ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ  ซึ่งจดทะเบียนแล้ว”

ข้อ ๒  ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับจดทะเบียน

* ข้อ ๓  ในข้อบังคับนี้
“กองทุน”   หมายความว่า   กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ   ซึ่งจดทะเบียนแล้ว    มีฐานะเป็นนิติบุคคล    ประกอบด้วยเงินที่สมาชิกจ่ายสะสม  เงินที่ส่วนราชการจ่ายสมทบรวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้  และผลประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว
“เงินกองทุน” หมายความว่า   เงินสะสมและเงินสมทบและดอกผลต่างๆ  ของเงินดังกล่าว  รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
“ข้อบังคับกองทุน”  หมายความว่า   ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ  ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
“รัฐมนตรี”  หมายความว่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

“ส่วนราชการ” หมายความว่า  ส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ลูกจ้างประจำ” หมายความถึง   ลูกจ้างประจำของส่วนราชการที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณงบบุคลากร    และลูกจ้างประจำของส่วนราชการซึ่งโอนไปปฏิบัติงาน  ณ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น     ตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง
(๑)  ลูกจ้างประจำที่มีสัญญาจ้าง
(๒)  ลูกจ้างที่จ้างให้ปฏิบัติงานของส่วนราชการในต่างประเทศ
“สมาชิก”หมายความว่า ลูกจ้างประจำที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนตามความในหมวด  ๒  แห่งข้อบังคับนี้
“ค่าจ้าง” หมายความว่า ค่าจ้างอัตราปกติตามอัตราที่กำหนดจ่ายให้สำหรับการปฏิบัติงานในระยะเวลาปกติ แต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบและเงินเพิ่มใดๆ
“คณะกรรมการกองทุน”  หมายความว่า   คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ  ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
“กรรมการกองทุน”  หมายความว่า    บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งจากส่วนราชการให้เป็นผู้แทนในคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ  ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
“เงินสะสม”  หมายความว่า  เงินที่สมาชิกจ่ายสะสมเข้ากองทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวด ๒ และหมวด  ๔ แห่งข้อบังคับนี้
“เงินสมทบ”  หมายความว่า   เงินที่ส่วนราชการจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้แก่สมาชิกแต่ละรายตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวด  ๒  และหมวด  ๔ แห่งข้อบังคับนี้
“ผู้รับประโยชน์”  หมายความว่า  ผู้ที่สมาชิกแสดงเจตนาโดยทำหนังสือมอบไว้แก่บริษัทจัดการตามแบบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
“บริษัทจัดการ”  หมายความว่า   บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล   โดยการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกองทุนให้จัดการกองทุนโดยมีค่าตอบแทน
“พระราชบัญญัติ”  หมายความว่า  พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ   พ.ศ.  ๒๕๓๐พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ   (ฉบับที่ ๒)   พ.ศ. ๒๕๔๒  พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   พ.ศ. ๒๕๓๕  พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ.  ๒๕๔๒    กฎกระทรวง    ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์     ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“นายทะเบียน” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“สำนักงาน กสจ.” หมายความว่า   สำนักงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว

*  ข้อ ๓ ถูกยกเลิกโดยข้อ ๓  แห่งข้อบังคับ  กสจ. ฉบับที่ ๕   เมื่อวันที่  ๕  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๖   และให้ใช้ความใหม่ที่พิมพ์ไว้นี้

ข้อ ๔  ให้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้

หมวด ๑
ความทั่วไป

ข้อ ๕ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อว่า

       (๑) ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว’ มีชื่อย่อว่า ‘กสจ.’ และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Government Permanent Employee Registered Provident Fund’ มีชื่อย่อว่า ‘GPEF’

       (๒) ลักษณะตราของ กสจ. เป็นตราวงกลม ภายในมีอักษรย่อว่า กสจ. ทุกตัวเป็นอักษรขอบสีทอง อักษร ก. เป็นสีขาว อักษร ส. เป็นสีเหลือง อักษร จ. เป็นสีขาว พื้นหลังของตัวอักษรเป็นสีแดง ภายในวงกลมเป็นอักษรคำว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นอักษรสีทอง มีเส้นวงกลมคั่นระหว่างตัวย่อ กสจ. กับกองทุนเป็นเส้นสีทอง ขอบนอกวงกลมวิ่งขนาน 2 เส้น พื้นหลังของอักษรกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นสีแสด ตามแบบที่กำหนดในท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ ๖ ให้สำนักงานกองทุนตั้งอยู่ ณ ชั้น ๒๓ อาคารเอ เดอไนท์ทาวเวอร์ เลขที่ ๓๓/๔ ถนนพระราม ๙ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๑๐

* ข้อ ๕ และข้อ ๖ ถูกยกเลิกโดยประกาศฉบับที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘ และให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้นี้

ข้อ ๗ กองทุนนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นหลักประกันแก่สมาชิกและครอบครัว เมื่อสมาชิกออกจากราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำส่วนราชการ

ข้อ ๘ รอบระยะเวลาบัญชีของกองทุนเริ่มต้นในวันที่ ๑ มกราคม และสิ้นสุดลง ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคมของทุกปี

หมวด ๒
สมาชิกภาพของสมาชิก

     ข้อ ๙  ผู้ที่ไดัรับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำของส่วนราชการจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนก็ได้
(๑) โดยให้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามแบบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
(๒) คณะกรรมการกองทุนต้องจัดให้มีข้อบังคับของกองทุนให้ลูกจ้างขอดูได้ในกรณีที่ลูกจ้างร้องขอ
(๓) กรณีสมาชิกใหม่ที่จะสมัครเป็นสมาชิกของกองทุน คณะกรรมการกองทุน ต้องให้สมาชิกดังกล่าวลงนามรับทราบข้อมูลในข้อบังคับของกองทุนด้วย
(๔) กรณีมีการแก้ไขข้อบังคับของกองทุน คณะกรรมการกองทุนต้องเปิดเผยให้ สมาชิกกองทุนทราบด้วย
ลูกจ้างประจำที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกและส่วนราชการเจ้าสังกัดผู้เบิกค่าจ้างได้ลงทะเบียนรับก่อนวันที่ ๑๕  ของเดือนใด สิทธิในสมาชิกภาพจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑  ของเดือนนั้น ส่วนผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกและส่วนราชการเจ้าสังกัดผู้เบิกค่าจ้างได้ลงทะเบียนรับตั้งแต่วันที่ ๑๕ ของเดือน  สิทธิในสมาชิกภาพจะเริ่มในวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป
การเป็นสมาชิกของกองทุนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่วนราชการนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน ตาม (๑)  ภายในสามวันนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้างในเดือนที่สมัครเป็นสมาชิก

     ข้อ ๑๐ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกองทุนมีดังนี้
(๑) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ และไม่กระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารกองทุน
(๒) ต้องส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับนี้   โดยยินยอมให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเป็นผู้หักจากค่าจ้างที่ได้รับ
(๓) มีสิทธิได้รับเงินสะสม  เงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินดังกล่าว   รวมทั้งผลประโยชน์อื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(๔) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่
(๕) มีสิทธิตรวจดูสำเนางบดุลและรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีฉบับที่ประชุมใหญ่สมาชิกรับรอง  ณ  สำนักงาน  กสจ.
(๖) มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนตามความในหมวด ๔
(๗) มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ
(๘) มีสิทธิระบุผู้รับประโยชน์หรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์

     *ข้อ ๑๑ สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนสิ้นสุดในกรณี  ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) พ้นจากราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง หรือ พ้นจากการเป็นลูกจ้างประจำตามกฎหมายหรือระเบียบของส่วนราชการซึ่งเป็นนายจ้าง
(๓) ลาออกหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ หรือตามกฎหมายหรือระเบียบของส่วนราชการ ซึ่งเป็นนายจ้าง
(๔) ถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ  ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ  หรือตามกฎหมายหรือระเบียบของส่วนราชการ  ซึ่งเป็นนายจ้าง
(๕)    กองทุนเลิก

*  ข้อ ๑๑ ถูกยกเลิกโดยข้อ ๔ แห่งข้อบังคับ   กสจ. ฉบับที่ ๕  เมื่อวันที่  ๕  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๖  และ ให้ใช้ความใหม่ที่พิมพ์ไว้นี้

หมวด ๓
คณะกรรมการกองทุน

ข้อ ๑๒  ให้คณะกรรมการกองทุนมีจำนวนสิบห้าคน  ประกอบด้วยผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  ผู้แทนสำนักงบประมาณ  ผู้แทนส่วนราชการอื่นอีกจำนวนห้าคนและสมาชิกซึ่งปฏิบัติราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีจำนวนเจ็ดคนเป็นกรรมการ
การเลือกผู้แทนส่วนราชการ  และผู้แทนสมาชิกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
ให้คณะกรรมการกองทุนเลือกกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการและเลขานุการ

ข้อ ๑๓  ให้กรรมการผู้แทนสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี    แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

* ข้อ ๑๔ ให้กรรมการผู้แทนส่วนราชการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี  แต่จะเป็นกรรมการผู้แทนส่วนราชการเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ข้อ ๑๕   นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ   กรรมการผู้แทนสมาชิกหรือกรรมการผู้แทนส่วนราชการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑)   ตาย
(๒)   ลาออก
(๓)   เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔)   เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕)  ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก  เว้นแต่โทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท  หรือลหุโทษ
(๖)   พ้นจากการเป็นสมาชิกหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการ

ข้อ ๑๖ ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิก  หรือกรรมการผู้แทนส่วนราชการพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้ดำเนินการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ภายในหกสิบวัน  ในระหว่างวันที่ยังมิได้มีการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อทำงานต่อไป จนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่

ข้อ ๑๗  ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิกหรือกรรมการผู้แทนส่วนราชการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้ผู้ซึ่งได้คะแนนถัดไปซึ่งขึ้นบัญชีไว้ในการเลือกผู้แทนสมาชิก  หรือผู้แทนส่วนราชการเป็นกรรมการแทน  ในกรณีไม่มีผู้ขึ้นบัญชีไว้ให้ดำเนินการเลือกผู้แทนสมาชิกหรือผู้แทนส่วนราชการขึ้นใหม่ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
ให้กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคหนึ่งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงสามสิบวันจะไม่แต่งตั้ง   หรือเลือกกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งแทนก็ได้

* ข้อ ๑๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑)   กำหนดนโยบายและออกระเบียบ   ข้อบังคับ  ประกาศและคำสั่งในการบริหารกิจการของกองทุน
(๒)   กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุน
(๓)   ควบคุมดูแลการจัดการกองทุน และเป็นผู้แทนกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
(๔)   พิจารณาแต่งตั้งหรือเลิกจ้างบริษัทจัดการและ/หรือผู้รับฝากทรัพย์สิน
(๕)   ควบคุมให้มีการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน    รวมทั้งติดตาม ให้ส่วนราชการจ่ายเงินเพิ่มเข้ากองทุนในกรณีที่มีการจ่ายเงินสะสม  เงินสมทบ  เข้ากองทุนล่าช้า
(๖)   พิจารณาแต่งตั้ง  เปลี่ยนแปลง  ยกเลิกผู้สอบบัญชี  และผู้ชำระบัญชี
(๗)   แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับกองทุนจดทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติม สำหรับการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับหมวด  ๔   และหมวด  ๘   จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนได้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน
(๘)   พิจารณาลงมติแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ประธานคณะกรรมการกองทุนหรือกรรมการกองทุน  ซึ่งต้องเป็นกรรมการผู้แทนของส่วนราชการและกรรมการผู้แทนสมาชิกอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคนมีอำนาจลงนามผูกพันกองทุนในกิจการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้ การแต่งตั้งและมอบหมายดังกล่าวต้องเป็นมติของคณะกรรมการกองทุน
(๙)    กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาและการจ่ายเงินของกองทุน
(๑๐)   หน้าที่อื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่คณะกรรมการกองทุนหรือสมาชิกมีมติให้ดำเนินการ
(๑๑)   พิจารณาให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร   กรณีที่บริษัทจัดการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(๑๒)   ตกลงกับบริษัทจัดการในการกำหนดวันคำนวณหน่วย   (Trade  date)  ไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการ ซึ่งต้องมีวันดังกล่าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ  ๑  ครั้ง     นอกจากนี้ในกรณีที่ กองทุนเลิก  ให้เลื่อนวัน Trade   date  มาเป็นวันที่กองทุนเลิกด้วย
(๑๓)  ให้ความเห็นหรือทักท้วงเกี่ยวกับการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่บริษัทจัดการประมาณขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดมูลค่าตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนดไม่เป็นตัวแทนที่ดี    เพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน
(๑๔)  ทักท้วงบริษัทจัดการเมื่อพบความไม่ถูกต้องของรายงานการแก้ไขมูลค่าย้อนหลังและรายงานการชดเชยมูลค่าที่บริษัทจัดการส่งให้ ในกรณีที่บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องตั้งแต่  ๑  สตางค์ขึ้นไป  และคิดเป็นอัตราตั้งแต่  ๐.๕ %   ของมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
(๑๕)  เปิดเผยการแก้ไขมูลค่าต่อหน่วยและการชดเชยมูลค่าให้แก่สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง

* ข้อ ๑๘  แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่  ๑๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๕   และให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้นี้

ข้อ ๑๙  การประชุมของคณะกรรมการกองทุนต้องมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้   ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด คนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การออกเสียงลงมติแต่งตั้งหรือเลิกจ้างบริษัทจัดการ  ผู้สอบบัญชีหรือผู้รับฝากทรัพย์สินต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง

ข้อ ๒๐   กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา  ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น

หมวด ๔
เงินสะสม  เงินสมทบ  และเงินบริจาค

ข้อ ๒๑  ให้สมาชิกส่งเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าจ้างที่สมาชิก ได้รับก่อนหักภาษี   โดยให้ส่วนราชการหักจากค่าจ้างที่สมาชิกได้รับก่อนหักภาษี ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง
ให้ส่วนราชการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าจ้างที่สมาชิกได้รับ   ก่อนหักภาษีทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง
กรณีที่สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง สมาชิกและส่วนราชการไม่จำต้องส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน
กรณีที่สมาชิกได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน ก็ให้สมาชิกและส่วนราชการส่งเงิน
สะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนตามส่วนแห่งค่าจ้างที่สมาชิกได้รับ
*  ข้อ ๒๒ ให้ส่วนราชการส่งเงินสะสม   เงินสมทบเข้ากองทุนภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง ในกรณีที่ส่วนราชการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนล่าช้ากว่าสามวันทำการ  ให้ส่วนราชการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่กองทุนในระหว่างที่ส่งล่าช้า ในอัตราร้อยละห้าต่อเดือนของจำนวนเงินสะสมหรือเงินสมทบที่ส่งล่าช้านั้น และให้บริษัทจัดการกระจายเงินเพิ่มที่เกิดจากการส่งเงินสะสมและเงินสมทบล่าช้าให้แก่สมาชิกทุกรายในกองทุน
เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ กรณีทรัพย์สินที่อุทิศนั้นสามารถรับรู้เป็นรายได้ให้นำเข้าเป็นรายได้ของกองทุนและจัดสรรรายได้นั้นตามสัดส่วนของเงินสะสมหรือเงินสมทบแล้วแต่จุดประสงค์ของผู้อุทิศที่ได้ระบุไว้   แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นยังไม่สามารถบันทึกเป็นรายได้ในงวดบัญชีที่มีการอุทิศ   ให้บันทึกเป็นทรัพย์สินจนกว่าทรัพย์สินนั้นได้จำหน่ายหรือสามารถรับรู้เป็นรายได้ในงวดบัญชีใดให้จัดสรรรายได้ดังกล่าวข้างต้น    ทั้งนี้ห้ามมิให้นำรายได้จากการอุทิศนี้มาคำนวณเป็นค่าบริหารกองทุน

*  ข้อ ๒๒ วรรคหนึ่ง  แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๕   และให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้นี้

หมวด ๕
บริษัทจัดการ  การจัดการกองทุน  และการบัญชี

ข้อ ๒๓  ให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาแต่งตั้งบริษัทจัดการซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์   ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
บริษัทจัดการต้องจัดให้มีผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุน
กองทุนมีสิทธิในการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนจากบริษัทจัดการ  ดังต่อไปนี้
(๑)  ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนมีมูลค่าลดลงอันเนื่องจากมูลค่าหลักทรัพย์และทรัพย์สินลดลงเกินกว่าร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนที่บริษัท จัดการได้แจ้งให้กองทุนทราบครั้งล่าสุด
(๒)  ได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(๓)  ได้รับทราบคำเตือนและคำอธิบายเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนตามนโยบายการลงทุนในกรณีที่บริษัทจัดการพ้นจากการเป็นบริษัทจัดการของกองทุน   เว้นแต่กรณีตามข้อบังคับกองทุนหมวด ๑๑  ข้อ ๔๑  คณะกรรมการกองทุนจะต้องแต่งตั้งบริษัทจัดการใหม่ภายในสามสิบวัน   นับแต่บริษัทจัดการเดิมพ้นจากการเป็นบริษัทจัดการ และแจ้งการแต่งตั้งบริษัทจัดการใหม่แก่สำนักงานภายในสิบสี่วันนับแต่วันแต่งตั้ง

ข้อ ๒๔  บริษัทจัดการมีหน้าที่จัดการกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติและ/หรือตามนโยบายการลงทุนของคณะกรรมการกองทุน   สัญญาจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมายดังกล่าว รวมทั้ง
(๑)  จัดให้มีระบบงานที่แสดงความพร้อมในการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(๒)  จัดให้มีระบบและควบคุมดูแลให้มีการจัดการกองทุน  โดยคำนึงถึงหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน (Fairness)
(๓)  กำหนดหลักปฏิบัติในการติดต่อประสานงานที่ชัดเจน     และรัดกุมระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการจัดการกองทุนกับหน่วยงานอื่นในบริษัทจัดการ
(๔)  จัดให้มีระบบและควบคุมดูแลการลงทุนของบริษัทจัดการ  บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุน  และพนักงานที่เกี่ยวข้อง
(๕)  จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนให้สำนักงานตามหลักเกณฑ์   และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
(๖)  ดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีหรือฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดกับกองทุนหรือขอรับชำระหนี้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับศาลล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกตามที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการกองทุน  สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุน

ข้อ ๒๕  บริษัทจัดการจะต้องแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของตนออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงิน หรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนโดยเด็ดขาด  และบริษัทจัดการจะต้องจัดทำรายงานแสดงฐานะและผลการดำเนินงานตามที่นายทะเบียนกำหนด

ข้อ ๒๖  บริษัทจัดการจะต้องจัดทำรายงานแสดงยอดเงินสะสม  เงินสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับ     และแจ้งให้สมาชิกทราบอย่างน้อยปีละสองครั้ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไป บริษัทจัดการต้องรายงานจำนวนหน่วยกองทุนและมูลค่าต่อหน่วยกองทุนด้วย

ข้อ ๒๗  ให้บริษัทจัดการให้มีการสอบบัญชีกองทุนโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ ๒๘  บริษัทจัดการพ้นจากการเป็นบริษัทจัดการก่อนครบกำหนดสัญญาเมื่อ
(๑)   นายทะเบียนสั่งถอดถอนในกรณีที่เห็นว่า  บริษัทจัดการได้จัดการกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่กองทุน
(๒)   กองทุนเลิกตามความในหมวด ๑๑
(๓)   ขาดคุณสมบัติการเป็นบริษัทจัดการ
(๔)   กองทุนหรือบริษัทจัดการบอกเลิกสัญญา

ข้อ ๒๙  ในกรณีที่บริษัทจัดการพ้นจากการเป็นบริษัทจัดการ    ให้บริษัทจัดการส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนพร้อมทั้งบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่ผู้รับฝากทรัพย์สิน  เมื่อ
(๑)   ครบกำหนดอายุสัญญา  ในวันถัดจากวันครบกำหนดอายุสัญญา
(๒)   การใช้สิทธิบอกเลิกของกองทุน  ส่งมอบโดยพลัน
(๓)   การใช้สิทธิบอกเลิกของบริษัทจัดการ   ภายในวันทำการถัดจากวันที่สัญญาสิ้นสุดลง

หมวด ๖
การคำนวณ  และกระจายผลประโยชน์ของกองทุน

*   ข้อ ๓๐  หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ
(๑)   การคำนวณและจัดสรรผลประโยชน์ของกองทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี  สำหรับกิจการที่มีธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุนที่กำหนดโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย  โดยให้มีการคำนวณผลประโยชน์ทุกครั้งที่มีการนำส่งเงินสะสมเงินสมทบเข้ากองทุนหรือที่มีการจ่ายเงินสะสมเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวออกจากกองทุน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่  ๑  กรกฎาคม  ๒๕๔๔ เป็นต้นไป
(๒)   การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน   ให้บริษัทจัดการคำนวณทุกสิ้นวันทำการที่มีการนำเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุน  ทุกสิ้นวันทำการที่มีการจ่ายเงินสะสม  เงินสมทบ   และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบออกจากกองทุน  และทุกสิ้นวันทำการสุดท้ายของเดือน
(๓)  การคำนวณและจัดสรรผลประโยชน์ของกองทุน  กำหนดให้สมาชิกจะมีสิทธิในส่วนได้เสียของกองทุนเมื่อได้มีการจัดสรรจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกครั้งแรกในวันถัดจากวันคำนวณหน่วย  (Trade date)  จนถึงวันคำนวณจำนวนหน่วยเพื่อจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพ
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณดังกล่าวข้างต้นให้เป็นไปตามที่สำนักงาน   หรือสมาคม  บริษัทจัดการลงทุน  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

*  ข้อ ๓๐ (๓)   แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่  ๑๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๕   และให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้นี้

ข้อ ๓๑  สิทธิ    ผลประโยชน์   หรือผลประโยชน์ใดอันได้จากหรือเนื่องจากการจัดการและบริหารกองทุนให้เป็นผลประโยชน์และตกเป็นของกองทุน

หมวด ๗
ค่าใช้จ่ายของกองทุน

ข้อ ๓๒   ค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกจากกองทุน  ได้แก่
(๑)  ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนและค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน
(๒)  ค่าธรรมเนียมในการเป็นนายทะเบียนสมาชิกกองทุน
(๓)  ค่าธรรมเนียมผู้สอบบัญชี
(๔)  ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นอันเกี่ยวกับการดำเนินการกองทุนให้จ่ายได้  ตามที่จ่ายจริง
(๕)  ค่าใช้จ่าย ๆ ในการมีบัญชีกองทุนกับธนาคาร  เช่น  ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ  ที่ธนาคารเรียกเก็บ  ค่าอากรแสตมป์  ค่าไปรษณียากร  ค่าโทรศัพท์  ค่าโทรสาร   ค่าสมุดเช็ค  ตามที่จ่ายจริง
(๖)  ค่าใช้จ่าย (ถ้ามี) ในการดำเนินคดีหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเพื่อประโยชน์ของกองทุน  หรือเมื่อได้รับคำสั่งจากสำนักงานตามที่จ่ายจริง
(๗)  ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการติดตามทวงถามหรือการดำเนินคดีเพื่อการรับชำระหนี้ใดๆ  ของกองทุน  ตามที่จ่ายจริง
(๘)  ค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนโดยตรง   เช่น ค่าที่ปรึกษากฎหมาย   ค่าจัดประชุมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกองทุน
ค่าจัดพิมพ์ และจัดส่งหนังสือบอกกล่าว  หรือประกาศที่สำนักงาน คณะกรรมการ  ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชี  ค่าใช้จ่ายในการประชุมใหญ่   ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์และ ค่าใช้จ่ายต่างๆ    อันเกี่ยวเนื่องจากการดำเนินการตามที่กฎหมาย หรือสำนักงานกำหนด  เป็นต้น ทั้งนี้ ตามที่จ่ายจริง
(๙)  ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาของการเลิกกองทุนจนถึงการชำระบัญชีแล้วเสร็จ   รวมถึงค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีและผู้รับฝากทรัพย์สิน  ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการวางทรัพย์ของสมาชิกที่มิได้มารับเงิน
(๑๐)  ภาษีมูลค่าเพิ่ม   ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียวกัน  อันเนื่องมาจากค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายตามข้อ ๓๒ (๑) ถึง (๑๐)

ข้อ ๓๓   ค่าใช้จ่ายกองทุนตามความในข้อ ๓๒ (๑)  (๒)    และ (๓)  ให้บริษัทจัดการหักออกจากกองทุนได้ในวันสิ้นเดือน

หมวด ๘
การจ่ายเงินจากกองทุน

*ข้อ ๓๔   เมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก กองทุนต้องจ่ายสะสมเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินจำนวนดังกล่าวทั้งจำนวน

บริษัทจัดการจะต้องจ่ายเงินกองทุนในส่วนที่สมาชิกหรือผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับ โดยต้องจ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่สิ้นสมาชิกภาพ

การจ่ายเงินตามวรรคสอง ให้บริษัทจัดการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากสมาชิก หรือจ่ายให้แก่สมาชิกโดยวิธีอื่นตามที่สมาชิกเรียกร้อง ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน หรือบุคคลที่คณะกรรมการมอบหมาย

ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพได้ ให้นำเงินดังกล่าวพักไว้ในบัญชี เพื่อรอการจ่ายเงินแก่สมาชิกหรือผู้มีสิทธิ

ข้อ ๓๕  ในกรณีที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุกองทุนเลิก การจ่ายเงินให้แก่สมาชิกให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ

ข้อ ๓๖  ในกรณีสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตาย ให้บริษัทจัดการจ่ายเงินกองทุนให้แก่ผู้รับประโยชน์ แต่หากไม่มีผู้รับประโยชน์จะจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่บุคคลตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑)  บุตรให้ได้รับสองส่วน แต่ถ้าสมาชิกผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน
(๒)  สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน
(๓)  บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดา ให้ได้รับหนึ่งส่วนถ้าสมาชิกผู้ตายไม่มีบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หรือมีแต่ได้ตายไปก่อน ให้แบ่งเงินที่บุคคลผู้นั้นมีสิทธิได้รับแก่บุคคลที่ยังมัชีวิตอยู่ตามส่วนที่กำหนดในวรร๕แรก

กรณีกองทุนเลิกแต่ยังมีเงินที่สมาชิกหรือผู้รับประโยชน์ยังมิได้มารับจากกองทุน หากเงินดังกล่าวได้จ่ายออกไปก่อนวันที่กองทุนเลิกให้เงินจำนวนดังกล่าวนั้นตกเป็นของกองทุน เพื่อจัดสรรให้กับสมาชิกที่ยังสมาชิกภาพทุกรายที่อยู่นั้น และเมื่อเสร็จสิ้นการชำระบัยชีแล้ว สมาชิกหรือผู้รับประโยชน์ไม่มารับเงินภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ชำระบัญชีเสร็จสิ้น ให้ผู้ชำระบัญชีเงินส่วนที่ไม่มีผู้รับนั้นวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์

ข้อ ๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อ ๓ แห่งข้อบังคับ กสจ. ฉบับที่ ๖ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ และให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้นี้

ข้อ ๓๕  แก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อ ๔ แห่งข้อบังคับ กสจ. ฉบับที่ ๙ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ และให้ใช้ความที่พิมพ์ไว้

หมวด ๙
การประชุมใหญ่

ข้อ ๓๗ กองทุนต้องจัดให้มีประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อ
(๑)  พิจารณารายงานผลการดำเนินงานของกองทุนในรอบระยะบัญชีที่ผ่านมา
(๒)  พิจารณารับรองงบการเงินของกองทุนในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา  ซึ่งผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีแล้ว
การประชุมใหญ่สมาชิกตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คณะกรรมการกำหนด
ให้ที่ประชุมใหญ่สมาชิกมีอำนาจแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการ ดำเนินงานของกองทุนต่อคณะกรรมการ

ข้อ ๓๘ ในการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณารับรองงบดุลนั้น    เมื่อที่ประชุมใหญ่รับรองงบดุลแล้ว  ให้คณะกรรมการกองทุนจัดทำรายงานการประชุมที่รับรองงบดุลส่งให้แก่บริษัทจัดการภายในเจ็ดวัน  พร้อมส่งสำเนาหนึ่งชุดให้นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่รับรอง และต้องแสดงไว้ที่สำนักงาน  กสจ.  เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้ด้วย

หมวด ๑๐
การโอนและการรับโอนสมาชิก

ข้อ ๓๙  ในกรณีที่สมาชิกออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่น และได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานใหม่โดยมีวันทำงานต่อเนื่องกัน   หากประสงค์จะโอนเงินกองทุนในส่วนของสมาชิกรายนั้นไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานใหม่ก็ให้กระทำได้

ข้อ ๔๐  ในกรณีที่สมาชิกมีความประสงค์จะโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นมายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ก็สามารถทำได้    โดยที่มีวันทำงานที่ต่อเนื่องกับหน่วยงานเดิม แต่จะต้องแจ้งให้ส่วนราชการและบริษัทจัดการทราบล่วงหน้าภายในสามสิบวัน    ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในส่วนราชการ

หมวด ๑๑
การเลิกกองทุนและการชำระบัญชี

ข้อ ๔๑  กองทุนเลิกเมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เลิกกองทุนตามพระราชบัญญัติ การแจ้งคำสั่งของรัฐมนตรีและการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ข้อ ๔๒  การเลิกกองทุน คณะกรรมการกองทุนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้น  จะต้องแจ้งให้สำนักงานทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กองทุนเลิก  และให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีและจัดให้มีการชำระบัญชีภายในสามสิบวันและให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่กองทุนเลิก เว้นแต่กรณีจำเป็นคณะกรรมการกองทุน หรือผู้ชำระบัญชีอาจขอผ่อนผันต่อสำนักงานเพื่อขยายระยะเวลาชำระบัญชีออกไปตามที่เห็นสมควร
ในระหว่างการชำระบัญชี ถ้าผู้ชำระบัญชีเห็นสมควรจะจ่ายเงินให้แก่สมาชิกบางส่วนก่อนก็ได้   และเมื่อได้ชำระบัญชีต้องจ่ายเงินทั้งหมดที่ค้างชำระแก่สมาชิกให้เสร็จภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเสร็จสิ้นการชำระบัญชี  โดยจ่ายเป็นเช็คระบุชื่อสมาชิก  ผู้รับประโยชน์  หรือทายาทที่มีสิทธิรับเงิน  ขีดคร่อมเข้าบัญชีและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ”  ออก ถ้ามีเงินเหลืออยู่ให้ผู้ชำระบัญชีนำเงินไปบริจาคให้สาธารณกุศล  ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนในการชำระบัญชีให้จ่ายจากทรัพย์สินของกองทุน   เมื่อเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว คณะกรรมการกองทุนหรือผู้ชำระบัญชีต้องยื่นรายงานการชำระบัญชี และทะเบียนสมาชิกให้แก่สำนักงานภายในสิบสี่วันนับแต่วันเสร็จสิ้นการชำระบัญชี

ข้อ ๔๓  การชำระบัญชีกองทุนให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด ๑๒

เบ็ดเตล็ด

ข้อ ๔๔   ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับกองทุน  หรือการบริหารกองทุนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ  อันเกี่ยวกับกองทุน  รวมทั้งการตีความตามข้อบังคับกองทุนให้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๔๕  ข้อปฏิบัติอื่นๆ  ที่มิได้ระบุไว้ในข้อบังคับกองทุนนี้ให้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ

*    ข้อ ๔๖  ให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการซึ่งเป็นสมาชิก  กสจ.  และต่อมาได้โอนไปสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการถ่ายโอนภารกิจระหว่างส่วนราชการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น     ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ. ๒๕๔๒  ก่อนและหลังวันที่ข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับ  ให้เป็นสมาชิก   กสจ.  ต่อไป  และให้คงสถานภาพความเป็นสมาชิก  กสจ. ต่อเนื่องกัน

*   ข้อ ๔๖  เพิ่มเติมโดยข้อ ๕  แห่งข้อบังคับ  กสจ.  ฉบับที่  ๕  เมื่อวันที่  ๕  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๖ 
ประกาศใช้บังคับ          ๒๗   มีนาคม          พ.ศ.  ๒๕๔๐
แก้ไขเพิ่มเติม  ๒           ๓๐    มีนาคม         พ.ศ.  ๒๕๔๔
แก้ไขเพิ่มเติม  ๓          ๑๗    ตุลาคม         พ.ศ.  ๒๕๔๔
แก้ไขเพิ่มเติม  ๔          ๑๗    พฤษภาคม     พ.ศ.  ๒๕๔๕
แก้ไขเพิ่มเติม  ๕            ๕    กันยายน       พ.ศ.  ๒๕๔๖